การไปใช้ชีวิตสุดเรียลคลุกคลีอยู่กับคนญี่ปุ่นแท้ๆ คือ หนึ่งในเหตุผลที่กระตุ้นให้ฉันเริ่มเรียนภาษาญี่ปุ่นอีกครั้งเป็นเวลา 1 ปีหลังจากที่ไม่ได้เรียนมานานกว่า 10 ปี
10 ปี! นี่ถ้าไม่ใช่ว่าเป้าหมายคือ ฝันอยากไปอยู่ญี่ปุ่นสัก 1-2 เดือน มีกิจกรรมให้พูดคุยเรียนรู้วิถีชีวิต และวัฒนธรรมที่ทั้งฝรั่ง และคนเอเชียเองยังเซอร์ไพรส์ คงไม่ทุ่มสุดตัวขนาดนี้เป็นแน่ WWOOF Japan จึงตอบโจทย์ขาลุย ฉันเริ่มวางแผนติดต่อครอบครัวโฮสท์ชาวญี่ปุ่นตั้งแต่ปลายปี และไปช่วยทำฟาร์มแลกกับอาหาร 3 มื้อและที่พักตั้งแต่เมษายนปี 2016
ฉันกับมุกกุรุ่นน้องที่เรียนญี่ปุ่นด้วยกันได้มีโอกาสไปวูฟถึง 3 ที่ในคิวชูนานประมาณเดือนครึ่ง แต่จะขอยกเอาเรื่องของบ้านที่เมืองฮิโระกาวะ จังหวัดฟุกุโอกะ มาเล่าละกันนะคะ บ้านนี้เขาทำฟาร์มผลไม้ เน้นสตรอเบอร์รี่ออร์แกนิกเป็นหลัก และร้านค้าผลิตภัณฑ์การเกษตรในชุมชน เอาล่ะ! เรามาดูกันดีกว่าว่า ชีวิตโฮมสเตย์เป็นอย่างไร
วิถีแห่งบ้านนากามูระ ขยันขันแข็ง
การปรับตัวเข้ากับบ้านนี้จะยากหน่อยในช่วง 2-3 วันแรก เพราะเราเพิ่งพบเจอแผ่นดินไหวกันมา สภาพยังช็อกกู่แทบไม่กลับ เมื่อหนีมาหลบภัยเข้าสู่วิถีแห่งบ้านนากามูระแล้ว นึกว่าเจ้าบ้านจะต้อนรับขับสู้ตามสไตล์คนไทย ป่าวค่ะ! แม่ใหญ่ของบ้านกล่าวต้อนรับเราว่าด้วยกฎต่างๆ ที่พึงปฏิบัติเป็นข้อๆ เช่น ตื่นกี่โมง ทำงานกี่โมง ตบท้ายด้วย “เก็บกระเป๋าเรียบร้อยแล้ว ก็ไปถามยูกิโกะซังว่าจะให้ช่วยอะไรไหมหน่อยนะ”
พิธีรับขวัญของที่นี่จึงเป็นการเริ่มงานเช็ดโต๊ะ เตรียมสถานที่สำหรับอีเวนท์ฉลองฤดูกาลเก็บเกี่ยวสตรอเบอร์รี่ประจำปีในวันรุ่งขึ้น โอ้ว แม่เจ้า! จะไหวไหมเนี่ย โชคดีหน่อยที่เราได้รับหน้าที่ตักไอติมโฮมเมดให้เด็กๆ ความรู้สึกจึงค่อยๆ ผ่อนคลาย และสนุกมากขึ้นเมื่อคนมากันเยอะในช่วงบ่าย
ทำตัวให้ไร้ข้อจำกัด
สิ่งหนึ่งที่เราเตรียมตัวมาคือเปิดใจกับทุกรูปแบบที่จะได้เจอ ด้วยการทำตัวให้ไร้ข้อจำกัด นี่เป็นทริกเลยนะ! และไม่ว่างานจะหนักแค่ไหน แต่เรายิ้ม (: อีกอย่างคือต้องเตรียมร่างกายให้ทนแดด ทนฝน เพราะงานส่วนใหญ่แม้จะเป็นงานเบาๆ อย่างตัดแต่งต้นสตรอเบอร์รี่ให้ไม่รก แต่เมื่อเข้าไปอยู่ในเรือนกระจก จากวันที่ร้อนแล้ว ในนั้นจะร้อนยิ่งกว่า ส่วนวันที่ฝนตก จะทั้งชื้นและหนาว เอาเป็นว่าอากาศเปลี่ยนบ่อยทำให้เราเพลียง่าย แต่เมื่อเรายิ้มมีความสุข ทำไป กินไป มันจะช่วยให้โฮสท์เขาเอ็นดูเรามากขึ้น
เลือกบ้านที่มีเด็กๆ
ครอบครัวนากามูระเป็นครอบครัวใหญ่มี 4 เจนเนอเรชั่น บรรยากาศจึงครึกครื้น ออกจะวุ่นวายเสียด้วยซ้ำ และที่ช่วยให้หายเหงาก็เป็นหลานชายวัยกำลังซนที่ชวนคุย ชวนเล่น แกล้งกันเอง “นี่ๆ พี่สาว ดูนี่สิ เต่าทองๆๆ” เป็นประโยคที่ได้ยินบ่อยสุด มีอยู่วันหนึ่งเราพาเด็กๆ กับหมาไปเดินเล่นชิลๆ เด็กๆ กลับมามีความสุข นี่จึงกลายเป็นผลที่ จู่ๆ วันหนึ่งพ่อแม่เด็กพาเราไปกินพาเฟ่โดยที่ไม่มีวาระพิเศษ แค่อยากจะพาเราไปเท่านั้น โอ้ย ช่างน่ารักจริงๆ
อาหารรสมือแม่ อร่อยแบบง่ายๆ
ส่วนเรื่องอาหารของแม่บ้านชาวญี่ปุ่นทุกมื้อจะมีเมนูง่ายๆ เช่น สลัดซอสพอนสึ ผักลวกคลุกน้ำมันงา ผักดอง ถั่วแระลวกจากสวนที่ย่าทวดปลูก และซุปมิโสะ และเมนูหลักอย่าง แฮมเบิร์ก ไก่ทอดคลุกซอส เป็นเมนูที่ทำไม่ยากอีกเช่นกัน ทุกมื้อเราก็มักจะชมว่าอร่อยเสมอ แต่จริงๆ แล้วที่อร่อยที่สุดคือ ข้าวสวย เติม 2 ถ้วยทุกมื้อ มันทั้งหอมและนุ่มมากเพราะปลูกในฟาร์มเพื่อนบ้านนี่เอง
สิ่งที่ได้เรียนรู้จากวิถีแห่งเซน
จากมุมมองของฉัน คนญี่ปุ่นจะใช้ชีวิตที่เรียบง่าย แต่ประกอบไปด้วยเทคโนโลยีอำนวยความสะดวกเช่น น้ำร้อนสำหรับอาบที่นี่ผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์จากแผ่นโซล่าเซลล์ ... เวลาเดินเข้าบ้านตอนกลางคืน มีเซนเซอร์เปิดไฟหน้าบ้านอัตโนมัติ... เสื้อผ้าบ้านนี้ซักทุกวัน ใช้ซ้ำทุกวัน... ทำกับข้าวกินเองทุกมื้อ เขาสอนให้เด็กๆ อยู่อย่างง่ายๆ กับธรรมชาติเล่นปั้นโคลนปั้นดิน และไม่ติดเกมส์คอมพิวเตอร์ อีกอย่างคือที่นี่เป็นครอบครัวง่ายๆ ในชนบท ระเบียบจึงไม่เข้มงวดอย่างที่คิดไว้
ทุกคนมีหน้าที่ทำงาน โดยเฉพาะแม่บ้านชาวญี่ปุ่นที่ทำงานทั้งวันแบบนอนสต็อป ตั้งแต่ตื่นมาแต่งตัวลูกเดินไปส่งรอรถโรงเรียนมารับ เตรียมอาหารเที่ยง ซักผ้า ทำความสะอาดบ้าน เตรียมอาหารเย็น และอื่นๆ มีอยู่ช็อตหนึ่งที่ฉันเห็นยูกิโกะซังสะพายลูกไว้ที่หลัง มือหนึ่งถือสายยางรดน้ำ อีกมือจับเชือกจูงหมาไว้ ภาพนั้นติดตามากว่านางแข็งแกร่ง กลายเป็นภาพจำว่าจะแต่งกับสามีชาวญี่ปุ่นต้องฝึกปรือเคี่ยวกรำงานหนักมาก่อน แค่คิดก็ขนลุก โนว!
และสิ่งที่ห้ามลืมเด็ดขาดคือ เตรียมของฝากจากไทยให้คนญี่ปุ่น แนะนำว่า ลายช้าง คนญี่ปุ่นกรี๊ดที่สุดค่ะ!
อ่านเรื่องราวการไปวูฟสนุกๆ จากประสบการณ์จริงได้เรื่อยๆ ที่ Little Forest ญี่ปุ่นลุยๆ
7 กิจกรรมที่คงไม่ได้ทำชาตินี้ ถ้าไม่ได้ไปวูฟที่คิวชู Wwoof Japan