ก่อนหน้านี้ วอม เจแปน มีบทความนำเสนอเกี่ยวกับโอตาคุ
Idol Otaku มารู้จักกับมนุษย์โอตะคุไอดอลว่ามีแบบไหนบ้าง เวลาที่ไปดูการแสดง
ประกอบกับต้นปี 2018 นี้ที่ BNK 48 ได้รับความนิยมในไทยเพิ่มขึ้นอย่างล้นหลาม จนคำว่า 'โอตะ' เป็นคำที่ฮิต และมีคนต้องการเข้าใจความหมายจริงๆ ของคำนี้ เราจึงขอค้นข้อมูลมานำเสนอให้ลึกขึ้นกันค่ะ
พจนานุกรมญี่ปุ่นฉบับใหม่ยอมรับว่า “โอตาคุ” ไม่ใช่กลุ่มคนที่บกพร่องทางการเข้าสังคม แต่ยังคงคำว่า “ผิดปกติ” อยู่ดีนะ
เมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา สำนักพิมพ์ Iwanami Shoten ได้ฤกษ์วางแผงพจนานุกรมสำคัญที่ใช้กันแพร่หลายอย่างพจนานุกรมภาษาญี่ปุ่น “Kojien” ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 7 เนื่องจากภาษาสามารถดิ้นได้ตามการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการทางสังคม ดังนั้น พจนานุกรมฉบับใหม่นี้จึงได้บรรจุคำใหม่เพิ่มและปรับปรุงความหมายของคำที่มีอยู่แล้ว แต่ทางกระบวนการผลิตก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ
เริ่มจาก สำนักพิมพ์ Iwanami Shoten ถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการอธิบายชุดคำ LGBT ไม่สมบูรณ์ และวันนี้เรามาดูกันว่า กลุ่มแฟน ๆ ผู้หลงใหลในอะนิเมะ วิดีโอเกม และงานอดิเรกอื่น ๆ ที่ตนสนใจอย่างมาก ว่าพวกเขาจะมีความรู้สึกอย่างไรกับการนิยามความหมายคำว่า “โอตาคุ”
ซึ่งพจนานุกรมภาษาญี่ปุ่น “Kojien” ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 7 นิยามว่า
1. คำสุภาพที่อธิบายถึงบ้านของบุคคลที่ 3
2. คำสุภาพที่อธิบายถึงสามีของบุคคลที่ 3
3. คำสุภาพที่อธิบายถึงบุคคลที่ 3
4. (เขียนแบบคาตาคานะ) คนที่ให้ความสนใจกับหัวข้อหรือเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นพิเศษจนผิดปกติ จึงให้ความสนใจกับสิ่งอื่น ๆ เพียงเล็กน้อยจนเป็นสาเหตุให้ห่างเหินหรือมีระยะห่างกับสังคมภายนอก ทั้งนี้ยังกินความหมายไปถึง คนที่หมกมุ่นอย่างมากกับงานอดิเรกต่าง ๆ
ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ภาพการเหมารวมของคำว่า “โอตาคุ” คือ คนที่ชอบอยู่คนเดียว ขาดทักษะการเข้าสังคม ผู้ที่ไม่เกิน 5 นาที ต้องวกกลับมาเข้าเรื่องตัวละครอะนิเมะที่ชื่นชอบ หรือไม่สามารถคุยเรื่องอื่นใดได้ยาว ๆ แต่ในกลุ่มของโอตาคุเองก็มีความแตกต่างกันออกไป 4 กลุ่ม ซึ่งจะมีโอตาคุประเภทที่เรียกว่า The reality-based otaku หรือ riaju otaku ที่ได้รับการยอมรับว่าพวกเขาก็เป็นกลุ่มคนที่มีความสามารถในการเข้าสังคมและมีกิจกรรมอย่างอื่นทำอีกโดยสามารถตัดออกจากโลกแฟนตาซี 2 มิติได้
ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าพวกเขาจะเป็นคนที่ไม่สามารถเข้ากับคนอื่นหรือมีทักษะในการพูดคุย แต่การไปประทับตราว่าเขาไม่ปกติก็เป็นเรื่องที่ทำร้ายจิตใจกัน
สำหรับคำว่า “โอตาคุ” จากพจนานุกรมภาษาญี่ปุ่น “Kojien” ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 6 นิยามความหมายที่ 1 – 3 คงเดิม (เหมือนกับฉบับที่ 7) แต่สำหรับความหมายที่ 4 นิยามว่า “คนที่เอาแต่สนใจกับหัวข้อหรือเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างผิดปกติ จนอยู่ในระดับที่มากเกินไป และบกพร่องทางการเข้าสังคม” แต่อย่างน้อยพจนานุกรมฉบับล่าสุดก็ไม่ควรระบุว่า ถ้าคุณเป็นโอตาคุ คุณจะเป็นพวกที่ขาดทักษะที่เกี่ยวข้องกับสังคมมนุษย์ อีกต่อไป
ตลอดเวลากว่าทศวรรษ ช่องว่างระหว่างพจนานุกรมฉบับที่ 6 และ 7 นี้ กระทั่งตอนนี้เองก็ตาม มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากกับวิถีความเป็นโอตาคุ สังคมเริ่มเข้าใจและมีการถกอย่างเป็นเหตุเป็นผลว่าวิถีเช่นนี้ก่อให้เกิดผลกระทบกับความปกติสุขของสังคมอย่างไร
ในสมัยนี้ สังคมออนไลน์และพื้นที่สำหรับแฟน ๆ นั้น อนุญาตให้คนที่มีความกระตือรือร้นสนใจในสิ่งเดียวกับได้พบปะเพื่อแลกเปลี่ยนความสนใจของตน ถึงแม้ว่าดีกรีความชอบจะไม่เท่ากันก็ตาม อะกิฮะบะระ ที่เป็นศูนย์กลางโอตาคุ เป็นจุดหมายปลายทางการเที่ยวชมที่คนจำนวนหนึ่งคิดว่ามันคงจะสนุกนะที่ได้เข้ามาเปิดประสบการณ์ที่เกี่ยวกับโอตาคุ
คำว่า “โอตาคุ” ในทางภาษาศาสตร์นั้นมีความหมายเดียวกับคำว่า “Geek” ในภาษาอังกฤษ ที่มีจุดเริ่มต้นจากการเหยียดโดยแท้ อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันมีผู้คนจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ที่นิยามตัวเองว่า “โอตาคุ” เอาเป็นว่าอย่างน้อยความหมายจากพจนานุกรมเล่มที่ 6 สู่เล่มที่ 7 ความหมายก็ลดทอนความรุนแรงลง เราก็หวังกับพจนานุกรมเล่มที่ 8 ที่อาจจะมีในอนาคต จะมีความหมายที่ความรุนแรงเบาบางลงไปอีก แล้วเพื่อน ๆ มีความเห็นว่าอย่างไรบ้างคะ?
แหล่งที่มาเรื่องและเนื้อหา : https://en.rocketnews24.com/2018/01/20/new-japanese-dictionary-acknowledges-that-otaku-arent-lacking-common-social-intelligence/
https://en.rocketnews24.com/2015/12/04/the-four-new-classes-of-modern-otaku/
แหล่งที่มารูปภาพ : https://asia.nikkei.com/Politics-Economy/Policy-Politics/Prestigious-Japanese-dictionary-defines-Taiwan-as-Chinese-province