รู้หรือไม่ว่าเด็กสาวชาวญี่ปุ่นกว่า 10,000 คน เรียกตัวเองว่าไอดอล และท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจที่หดตัวของญี่ปุ่น แต่อุตสาหกรรมไอดอลกลับมีมูลค่าถึง 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ วลีโปรยหัวจากภาพยนตร์เรื่อง Tokyo Idols ภาพยนตร์ที่เข้าฉายในบ้านเราเมื่อปีที่ผ่านมา พูดถึงวงการไอดอลหญิงญี่ปุ่นในยุคปัจจุบัน ความสัมพันธ์ระหว่างไอดอลและโอตะ รวมถึงมุมมองจากสายตาคนนอกที่มีต่อปรากฏการณ์นี้ ด้วยฝีมือการถ่ายทอดโดย เคียวโกะ มิยาเกะ (Kyoko Miyake) ผู้กำกับสาวมากความสามารถ เจ้าของรางวัล Berlin Today Award จากเทศกาลหนังเบอร์ลินปี 2011 จากภาพยนตร์เรื่อง Hackney Lullabies
Tokyo Idols เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับ ริโอะ สาวน้อยวัย 19 ไอดอลสาวผู้ที่กำลังไล่ล่าความฝันอย่างสุดกำลังเพื่อที่จะเป็นศิลปินเต็มตัว เพราะด้วยวัยที่เปรียบเป็นไอดอลตอนปลาย แต่ริโอะไม่ได้สู้เพียงลำพัง หากยังมี Rio Brothers กลุ่มแฟนคลับของริโอะที่พยายามร่วมกับเธอ ผลักดันเธอให้ถึงฝั่งฝัน โดยมี โคจิ หัวหน้ากลุ่มแฟนคลับ ที่เป็นอีกหนึ่งตัวละครสำคัญ ภาพยนตร์ฉายให้เห็นจุดเริ่มต้นระหว่างไอดอลและโอตะ และความสัมพันธ์ที่มีระหว่างกัน
::เนื้อหาต่อไปนี้มีการสปอยล์::
ถึงแม้จะเปิดเรื่องมาเป็นเรื่องราวของ ริโอะ และ Rio Brother แต่ภาพยนตร์ยกตัวอย่างวงไอดอลวงอื่น ๆ มาตัดสลับกัน ไม่ว่าจะเป็นวง P.IDL วงดังอย่าง AKB48 บางวงไอดอลอายุน้อยมาก เพียง 10 ต้น ๆ เท่านั้น โดยฉายภาพเป็นสามมุมระหว่างโอตะ ไอดอล และความเห็นจากนักวิพากษ์สังคมในหลาย ๆ สาขาอาชีพ เช่นนักสื่อสารมวลชน นักวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม รวมไปจนถึงนักสังคมวิทยา เพื่อวิเคราะห์ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้
ช่วงแรกของภาพยนตร์ ปฏิเสธไม่ได้ว่าตัวผู้เขียนจะตกใจกับการวิธีการให้กำลังใจ ส่งเสียงเชียร์ของบรรดาโอตะที่มีให้ศิลปินของพวกเขา แต่พิธีกรรมนี้ได้ไม่เกิดขึ้นลอย ๆ มันผ่านการคิด วางแผน เตรียมงาน ซ้อมคิว และความร่วมมือกันระหว่างกลุ่มแฟนคลับ
ถึงแม้ดูเหมือนว่า ภายนอกโอตะจะอยู่ในโลกของความรักที่ดูเป็นไปไม่ได้ แต่เมื่อได้กะเทาะสิ่งที่อยู่ภายในใจโอตะก็พบว่า พวกเขาเข้าใจโลกมากกว่าผู้เขียนเสียอีก เมื่อถูกถามว่าเคยคิดความรักแบบโรแมนติคกับไอดอลหรือไม่ พวกเขาก็ตอบตามตรงว่า ในชีวิตจริงไม่มีทางเป็นแบบนั้นหรอก พวกเธอดีกับเราในฐานะไอดอลก็เท่านั้น การที่มาเป็นโอตะก็เพราะชอบในความพยายามของไอดอล เฝ้าดูให้ไปถึงเป้าหมาย ในขณะที่ตัวเองเคยพยายามแต่ทำไม่ได้ (อาจเพื่อเติมเต็มความรู้สึกที่ตัวเอง เคยพยายามแต่ทำไม่ได้มาก่อน)
พอพูดถึงเรื่องการเอาใจช่วยไอดอลก็อดนึกถึงการเลือกตั้งเซ็นบัตสึของ 48Group ไม่ได้ นี่คือภาพที่เห็นได้ชัดเจน นอกจากความพยายามให้ได้คะแนนโหวตเยอะ ๆ ด้วยความสามารถของตัวไอดอลเองแล้ว แรงสนับสนุนของบรรดาโอตะก็ยิ่งใหญ่ไม่แพ้ หลายคนสวดมนต์ภาวนาของพรให้ไอดอลที่ตนชื่นชอบได้ติดเซ็นบัตสึ
เมื่อถามถึงความรักในชีวิตจริงของโอตะ พวกเขาก็มีทัศนคติที่น่าสนใจ ในเรื่องที่ไม่อยากผูกมัดและมีความสัมพันธ์จริงจังกับผู้หญิงในโลกแห่งความเป็นจริง บางคนเคยเจ็บปวดเพราะความรัก เคยเก็บเงินเพื่อจะสร้างครอบครัว สุดท้ายถูกปฏิเสธ ดังนั้น เขากล้าจ่ายหรือเปย์ให้กับใครสักคนที่การันตีความรู้สึกไม่ทำให้เขาเจ็บปวดได้ เพราะไม่ว่าจะคุณรวยแค่ไหน ไอดอลก็ไม่ใส่ใจคุณไปมากกว่าคนอื่น ๆ ในเมื่อไม่มีการแข่งขัน ก็ไม่ต้องกลัวว่าจะถูกปฏิเสธ
ในขณะที่ความคิดของไอดอล ก็มองว่าบรรดาแฟนคลับ คืออีกหนึ่งแรงกระตุ้นที่จะติดสปีดตัวเองให้ประสบความสำเร็จ พยายามอย่างหนักมากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างที่ริโอะบอกในภาพยนตร์ ฉันรักทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน พวกเขาคือสิ่งสำคัญในชีวิตของฉัน ฉันคงว่างเปล่าถ้าหากไม่มีพวกเขา
ในแง่การวิพากษ์โดยสายตาคนนอก เหตุการณ์นี้ถือเป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ทางสังคม ได้หลายประเด็นได้กลับมาขบคิด แต่เดิมการจับมือถือแขนเป็นเรื่องต้องห้าม แต่ทุกวันนี้กลายเป็นเรื่องที่ยอมรับกันได้ งานจับมือค่อนข้างจะเป็นเรื่องหมิ่นเหม่ในเรื่องกฎหมายในพื้นที่เปิดโล่งหรือไม่ ช่วงยุค 90 เศรษฐกิจญี่ปุ่นแต่ไปยังจุดที่สูงและก็ตกลงมาอย่างรวดเร็ว ท่ามกลางสังคมแสนโดดเดี่ยวและสิ้นหวัง คนเราจึงมองหาสิ่งยึดเหนี่ยวทางใจให้ไปต่อได้ และไอดอลก็คือคำตอบในตอนนี้
เมื่อเกิดปรากฏการณ์ไอดอลนี้ ส่งผลให้คนหนุ่มไปจนถึงกลางคนรามือกับการใฝ่หาความรักในโลกความจริง การผูกมัดและบ่วง ซึ่งนำไปสู่อัตราการเกิดในประเทศต่ำลงไปอีก รวมถึงในสังคมญี่ปุ่น ผู้หญิงก็ไม่ได้ถูกมองในฐานะเท่าเทียมสักเท่าไร อย่างที่เราๆ ท่านๆ เห็นในข่าวเกี่ยวกับการสอบเข้าคณะแพทย์ฯ ยากที่จะเห็นพลังขับเคลื่อนเพื่อสนับสนุนผู้หญิงขนาดนี้ แต่ในโลกของไอดอล ผู้หญิงคือดาวที่ส่องแสง หรือแม้แต่ด้วยวัยที่ห่างมาก ๆ ของโอตะและไอดอล มันหมิ่นเหม่ระหว่างการเอาใจช่วยให้เด็ก ๆ ไปถึงฝันอย่างสง่างามและทำให้ตัวเองเหมือนกลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง กับโรคพีโดฟีเลีย (Pedophilia หรือโรครักเด็ก) สิ่งที่ทำได้คือการนำปรากฏการณ์มาตกตะกอน เพื่อนำผลขับเคลื่อนสังคมต่อไป
ตลอดเรื่องภาพยนตร์ได้ตัดสลับความคิดของคนทั้งสามกลุ่ม ให้คนดูค่อย ๆ เปิดใจ ไม่ต้องถึงกับยอมรับ แต่เราจะเข้าใจพวกเขาได้ไม่มากก็น้อยแน่นอน เบื้องหน้าที่ฉาบไปด้วยความสนุกและรอยยิ้ม กลับอาบไปด้วยหยาดเหงื่อและน้ำตา ทั้งฝั่งโอตะและตัวไอดอลเอง คนหนึ่งทำตามความฝัน อีกคนหนึ่งทำเพื่อให้ใครสักคนได้บรรลุถึงเป้าหมายที่ฝันเอาไว้ เพื่อเติมเต็มความรู้สึกตัวเอง มันคงเป็นความรู้สึกดีๆ ที่เห็นใครสักคนไปยังจุดสูงสุด โดยมีเราเป็นส่วนหนึ่งในความสำเร็จของเขา ต่างฝ่ายต่างผลักดันซึ่งกันและกัน ถึงแม้เมื่อเวลาผ่าน ทุกอย่างจะหายไปดั่งควันก็ยอมรับได้ นี่คือสิ่งที่ผู้เขียนรู้สึก…
ตัวอย่างภาพยนตร์ :
สำหรับบ้านเรา วงไอดอลสายญี่ปุ่นที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในตอนนี้ คงปฏิเสธไม่ได้ว่าคือ วง BNK48 วงน้องสาวของ AKB48 มีเพลงดังอย่างคุกกี้เสี่ยงทาย ที่ร้องตามกันได้ทั่วบ้านทั่วเมือง กำลังจะมีภาพยนตร์สารคดี BNK48: Girls Don't Cry ผลงานการกำกับล่าสุดของ เต๋อ นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ผู้กำกับสายแหวกขนบ กับผลงานการกำกับที่ผ่าน ๆ มาของเขา
โดยคุณเต๋อ นวพล ได้โพสต์สถานะบนเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม ดังนี้ “น้ำตาวัยรุ่นมีความหมาย เข้าไปหาแต่ละความหมายในแต่ละเฟรมกันในโรงภาพยนตร์นะครับ”
ใครจองตั๋ววันที่ 16 สิงหาคมแล้ว มาเจอกันค่า มากันนะ อยากเจอ…
ตัวอย่างภาพยนตร์ Girls don’t cry :
Image : Documentary Club