เนื้อวัววากิวญี่ปุ่นมีหลากหลายสายพันธุ์ครับ เช่น อาคาเกะวะชู (วัวจากจังหวัดโคจิ หรือแคว้นโทสะในอดีต) นิฮงทันคาคุชู (วัวที่นำเข้าสายพันธุ์จากอเมริกาในอดีตมาเพาะพันธุ์ที่จังหวัดอิวาเตะ) มุคาคุชู (วัวท้องถิ่นจังหวัดยามากุจิ) แต่พันธุ์ที่มีบทบาทในวงการวากิวที่สุดคือ คุโระเกะวะชู (วัวขนดำท้องถิ่นจากเขตอุวาจิม่า จังหวัดเอฮิเมะ) ด้วยความพิเศษที่มีชั้นไขมันนอกที่ไม่หนามาก นุ่ม และมีมันแทรกในเนื้อ คนญี่ปุ่นจึงเริ่มหาวิธีเลี้ยงที่ทำให้ไขมันดีในเนื้อมีการกระจายตัวออกเหมือนลายหินอ่อน เพื่อให้รสสัมผัสที่นุ่มลิ้นขึ้น
ในการจัดอันดับจาก 日本食肉消費総合センター หรือ Japan Meat Information Service Center (JMI) ได้จัดอันดับวากิวมาดังนี้ ..
อันดับ 3 คือ โกเบกิว 神戸牛 วากิวที่พัฒนาจากวัวขนดำคุโรเกะ วัวทาจิม่า โกเบคือเมืองหนึ่งในจังหวัดเฮียวโกะ นั้นเองครับ เป็นเนื้อที่โด่งดังจากการบอกต่อของคนอังกฤษที่มาแลกเปลี่ยนค้าขาย ที่ท่าเรือโกเบ และการเสิร์ฟเพื่อให้ถูกปากของต่างชาติจึงมีการพัฒนาในส่วนของเนื้อแดงเป็นหลัก นิยมทานเป็นสเต๊กที่ได้รสสัมผัสจากการเคี้ยวบดของเนื้อมากขึ้น
อันดับ 2 คือ โอมิอุชิ 近江牛 วากิวจากจังหวัดชิกะ ได้รับการยอมรับในยุคของโชกุนโตกุงาว่าให้เป็นสินค้าชั้นดี ที่ต้องรับเข้ามาเป็นเสบียงในคลัง เป็นเนื้อจากวัวขนดำคุโรเกะเช่นกันครับ โดยนิยมทานปรุงคู่กันมิโสะเป็นหลัก
อันดับ 1 คือ มัตซึซากะกิว 松坂牛 เป็นเนื้อจากวัวขนดำคุโรเกะ จากวัวทาจิม่า (จากจังหวัดเฮียวโกะ) ที่พัฒนาขึ้นมาในยุคเอโดะ ในจังหวัดมิเอะ โดยปัจจุบันยังได้มีการพัฒนารวมกับ วัวอาวาชิด้วย (จากคิวชู) โดยมุ่งเน้นที่ไขมันที่นุ่มนวลในเนื้อเหมาะสำหรับเนื้อย่าง การทานเนื้อวัวมัตซึซากะ เป็นการทานที่เน้นรสสัมผัสของไขมันดีในเนื้อ มีโจ๊กติดตลกว่า ถ้าพลิกเนื้อย่างให้ไขมันไหลทิ้งเมื่อไร ก็เหมือนเราทิ้งของดีทั้งหมดที่เรามุ่งหวังจากมัตซึซากะไป!
จริงๆแล้ววงการเนื้อจะมีการขับเคี่ยวกันของ 4 เนื้อเป็นหลัก ในหลายที่ก็จะมีการจัดอันดับของ เนื้อโยเนซาว่ากิว 米沢牛 จาก จังหวัดยามากะตะเข้ามาด้วยครับ แต่การจัดอันดับของกลุ่มสมาคมเนื้อในญี่ปุ่นหลายที่มองในเรื่องของประวัติความเป็นมาและความมีชื่อเสียงประกอบด้วย ทำให้โดยพื้นฐานอันดับของเนื้อ 3 อย่างแรกจึงได้รับการยอมรับมากกว่า ทางผู้เขียนจึงของอ้างอิง จากทาง JMI เป็นหลักครับ
สายเนื้อไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง!