ปู ในประเทศญี่ปุ่นนั้นมีอยู่หลากหลายสายพันธุ์ ทั้งตัวเล็กตัวใหญ่ สีแดงสดหรือสีส้มสวยงาม ก็ล้วนแต่จะเป็นที่ชื่นชอบของนักกินกันทั้งนั้น โดยเฉพาะส่วนขาที่เป็นที่นิยมอย่างมากจนมีเมนูขาปูให้บริการอยู่ในร้านอาหารหลายแห่ง แต่ถ้าไปทางฝั่งของทะเลญี่ปุ่น เราจะพบว่าปูมันมีหลายชื่อมาก! แล้วมันคือพันธุ์อะไรกันเนี่ย เรียกไม่เหมือนกันเลย วันนี้เราจะพาไปดูข้อมูลของปูจากแหล่งนี้กัน
จากภาพเราจะเห็นว่ามีปูอยู่หลายชนิดมาก ทั้ง Kano-gani, Echizen-gani, Taiza-gani, Tsuiyama-gani, Tottori Matsuba-gani และ Oki Matsuba-gani .. แล้วมันต่างกันยังไง? ทำไมแหล่งน้ำเดียวกันมันถึงมีหลายชื่อจัง? แต่ผมจะสรุปแบบสั้นมากๆ เลยว่า .. มันก็คือปูพันธุ์เดียวกันหมดนั่นแหละ !!!
ใช่แล้วครับ ปูที่ว่ามานี้คือปูสายพันธุ์ Zuwai (Snow Crab หรือ Chionoecetes) จากแหล่งน้ำตื้น สีจะไม่สด ออกไปทางน้ำตาลและส้ม
“อ้าว!? แล้วปูพันธุ์ Zuwai ที่มีสีแดงสดล่ะ?”
อันนั้นก็ใช่ครับ แต่ปูชนิดที่มีสีแดงสดนั้นจะจับได้จากแหล่งทะเลน้ำลึกประมาณ 500 – 2,500 เมตร เรียกว่า Benizuwai ส่วนปู Zuwai ปกตินั้นจะจับได้ในช่วงความลึก 200 – 500 เมตร แม้ว่า Zuwai นั้นจะอยู่ในน้ำทะเลที่ตื้นกว่า แต่ราคากลับแพงกว่า! โดยปกติแล้วฤดูจับปูจะอยู่ในช่วงฤดูหนาวหรือประมาณเดือนพฤศจิกายนถึงต้นมีนาคม
OH CRAB !
ถ้าจะให้เข้าใจง่ายๆ เลยก็ต้องแบ่งเป็น Zuwai กับ Benizuwai ส่วนพันธุ์อื่นๆ เราจะไม่ขอพูดถึงก็แล้วกันเนอะ หากใครเคยไปเที่ยวในจังหวัดที่อยู่ติดกับทะเลญี่ปุ่นโดยเฉพาะการได้ไปเที่ยวในเมืองที่อยู่ใกล้กับทะเลแล้วก็น่าจะคุ้นหน้าคุ้นตากับปู Zuwai กันพอสมควร โดยเฉพาะทาง Hokuriku (Fukui และ Ishikawa) หรือทาง Sanin (Tottori และ Shimane) 4 จังหวัดนี้จะเน้นในเรื่องการนำเสนออาหารประเภทปูค่อนข้างมาก อย่างจังหวัด Fukui นั้นก็จะชูเรื่องของปู Echizen-gani เป็นอาหารขึ้นชื่อของจังหวัด หรือ Tottori ที่เน้นโปรโมทปู Matsuba-gani กันอย่างมาก ซึ่งมันก็เป็นปูชนิดเดียวกันนี่แหละ
แต่ถึงแม้เราจะรู้ว่ามันคือพันธุ์เดียวกัน แต่ในทางการท่องเที่ยวนั้นกลับให้ความรู้สึกที่แตกต่างกันและพิเศษขึ้น ลองคิดดูละกันว่าถ้าเราไปจังหวัด Fukui แล้วเราก็ต้องไม่พลาดเมนูปู Echizen-gani ใช่ไหมล่ะ? หรือไปจังหวัด Ishikawa เราก็อยากจะลองปู Kano-gani อยู่ดี จะว่าไปมันก็เป็นเรื่องของความรู้สึกของคนเหมือนกันครับ
แล้วถ้าเกิดว่าเราเอาปู Zuwai ทั้งหมดมารวมกัน เราจะรู้ได้ยังไงว่าปูตัวไหนมาจากที่ไหน?
คำตอบมันจะอยู่ที่ป้ายที่ติดอยู่ที่ปูครับ ป้ายเหล่านี้จะแสดงที่มาของปูจากแหล่งต่างๆ โดยหลักๆ ให้ดูที่สีของป้ายก่อนก็ได้ครับ เพราะสีของป้ายนั้นก็แบ่งออกมาค่อนข้างชัดเจนอยู่แล้ว งั้นเราไปดูกันดีกว่าว่าสีแต่ละสีหมายถึงปูจากที่ไหนกันบ้าง
สีฟ้า • : Kano-gani จังหวัด Ishikawa
สีเหลือง • : Echizen-gani จังหวัด Fukui
สีเขียว • : Taiza-gani จังหวัด Kyoto
สีชมพู • : Shibayama-gani จังหวัด Hyogo
สีน้ำเงิน • : Tsuiyama-gani จังหวัด Hyogo
สีขาว • : Matsuba-gani จังหวัด Tottori
สีน้ำเงิน • : Matsuba-gani จังหวัด Shimane
* จังหวัด Shimane กับจังหวัด Tottori ใช้ชื่อ Matsuba เหมือนกัน แต่ป้ายคนละสี
จะเห็นว่าบางที่นั้นจะมีสีใกล้ๆ กัน ซึ่งถ้ามองไปที่ป้ายนั้นๆ เราก็จะเจอกับข้อความระบุที่มาของปูด้วยครับ ดังนั้นถ้าไม่ถอดป้ายออกหรือสลับป้ายกันก็คงแยกกันไม่ยากอย่างแน่นอน
ส่วนเรื่องสีกับตุ่มบนตัวของปูนั้นคือพวกปูที่ยังไม่ได้ลองคราบ ราคาก็จะถูกกว่าปูที่ลอกคราบแล้วและมีสีสวยงาม แต่ไม่ค่อยมีผลอะไรในเรื่องของคุณภาพ ส่วนปูที่ลอกคราบไปแล้วนั้นก็จะมีขนาดที่ใหญ่ขึ้นตามธรรมาติของมัน ตุ่มดำๆ นี้ดูแล้วมันไม่น่ากิน และดูสกปรก ราคาก็เลยถูกลงมา มันจะคล้ายๆ กับปูพิการ ซึ่งจะมีราคาที่ถูกลงอย่างมาก ถ้านำมาขายในตลาด
เรื่องของปูยังไม่จบแค่นี้! ปูที่ว่ามาในตอนแรกนั้นแค่ปูตัวผู้! Zuwai ตัวเมียก็มีให้กินด้วยเช่นกัน แต่จะมีชื่อเรียกที่ต่างออกไปอีกเช่น Koubako-gani หรือ Seiko-gani เป็นต้น ทีนี้เรามาแยกชื่อตามจังหวัดที่จับกันอีกรอบดีกว่า
Kouboko-gani : จังหวัด Ishikawa
Seiko-gani : จังหวัด Fukui
Koppe-gani : จังหวัด Kyoto, Hyogo, Tottori และ Shimane
Oya-gani : จังหวัด Tottori
Seko-gani : จังหวัด Shimane
ปูตัวเมียจะมีลักษณะภายนอกที่ต่างกันไม่มากนัก เช่น ช่วงตัวจะดูกลมกว่าเล็กน้อย ขาจะห่างกว่าเป็นต้น แต่ที่สำคัญที่สุดเลยคือราคาปูตัวเมียจะถูกกว่า!
หากใครมีโอกาสได้ไป Hokuriku Kansai หรือ Sanin ก็อย่าลืมชิมปู Zuwai กันด้วยนะ ทำได้หลากหลายเมนูเลยล่ะ