เดิมเทศกาลนี้มีชื่อว่า Tohoku Rokkonsai จัดขึ้นครั้งแรกในปี2011 หลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวใหญ่เพียง4เดือน จุดประสงค์หลักก็เพื่อให้ชาวญี่ปุ่นแถบภาคะวันออกเฉียงเหนือที่เพิ่งประสบกับภัยธรรมชาติครั้งใหญ่ได้มีขวัญและกำลังใจกลับมาอีกครั้ง
สำหรับในปี 2017 นี้ได้มีการเปลี่ยนชื่องานเป็น Tohoku Kizuna Festival โดยคำว่า Kizuna (絆)หมายถึง"การเชื่อมโยง" ในที่นี้หมายถึงการเชื่อมโยงเอาจังหวัดในโทโฮคุทั้ง 6 ประกอบด้วย Aomori, Akita, Iwate, Fukushima, Miyagi และ Yamagata รวมกันเป็นหนึ่งเดียวกัน
ภูมิภาคโทโฮคุนั้นอาจจะไม่ได้ศิวิไลซ์เหมือนกับเขตคันโต หรือครึกครื้นรื่นเริงเท่ากับเขตคันไซ แต่สิ่งหนึ่งที่ชาวโทโฮคุภาคภูมิใจคืองานเทศกาลในช่วงฤดูร้อนของพวกเขา
งานมีด้วยกัน 2วัน ในวันแรกแต่ละเทศกาลจะมีการจัดแสดงตามเวทีต่างๆ ส่วนวันที่ 2 ไฮท์ไลท์อยู่ที่ขบวนพาเหรดจำลองงานเทศกาลทั้ง 6 ต่อกันบนถนนเซนโซจิและถนนอะโอบะ ใจกลางเมืองเซ็นไดในจังหวัดมิยากิ เป็นระยะทางยาวประมาณ 1 ก.ม.
ผู้ที่มาร่วมงานจะได้สัมผัสกับงานเทศกาลทั้ง 6ในครั้งเดียวไม่ต้องตระเวณไปดูตามจังหวัดต่างๆ แต่แน่นอนว่าบรรยากาศก็จะแตกต่างกับงานเทศกาลซึ่งจัดในพื้นที่จริงๆเช่นกัน
อะโอโมริเนบุตะคือ 1 ใน 3 ของงานเทศกาลฤดูร้อนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโทโฮคุ มีจุดเริ่มต้นมาจากการลอยโคมในงานเทศกาลทานาบะตะ
ภายในงานจะมีการแห่โคมไฟกระดาษขนาดยักษ์จำนวน 22 คันแต่ละคันสูงราว 3 -9 เมตร พร้อมทั้งขบวนนักเต้นรำ "ฮะเนโตะ" และนักดนตรีนับหลายร้อยชีวิตร่วมไปในขบวนแห่ไปโดยรอบเมืองอะโอโมริ โคมไฟแต่ละตัวมีคาแรกเตอร์ที่แตกต่างกันไป แล้วแต่ศิลปินจะสร้างสรรค์ ที่พบเห็นได้บ่อยคือยักษ์ เทพเจ้า ปีศาจ นักรบ และตัวละครในเทพนิยายต่างๆ
เนื่องจากฤดูร้อนในอะโอโมรินั้นสั้น งานเทศกาลนี้จึงช่วยสร้างบรรยากาศที่เร่าร้อนและคึกคักได้เป็นอย่างดี
ในปีที่แล้วมีมาร่วมเฉลิมฉลองกับงานเทศกาลนี้มากถึง 2ล้าน 7แสนคน ภายในระยะเวลาแค่ 6วัน
นักเต้นฮาเนะโตะ
นักแสดงมีทั้งเด็กและผู้ใหญ่
นักเต้นกระโดดไปมาตามเสียงเพลงสร้างสีสันและรอยยิ้มให้ผู้เข้าชม
มือกลองไทโกะผู้สร้างจังหวะคึกคักตลอดขบวนพาเหรด
[Aomori Nebuta Festival ]
จัดขึ้นทุกวันที่ 2-7 สิงหาคมของทุกปี
[ช่วงเวลาที่จัดขบวนพาเหรด]
วันที่ 2-6 สิงหาคม พาเหรดเริ่มเวลา 19:10 - 21:00
7 สิงหาคม พาเหรดเริ่มเวลา 13:00 - 15:00
7 สิงหาคม ขบวนพาเหรดที่ท่าเรือและพลุดอกไม้ไฟ เวลา 19:15 -21:00
[สถานที่จัดงาน]
ขบวนพาเหรดยาว 3กิโลเมตร วนเป็นวงกลมบริเวณใจกลางเมืองอะโอโมริ
[การเดินทาง]
เดิน 10นาทีจากสถานี JR Aomori
[เว็บไซต์ทางการ] (ภาษาญี่ปุ่น) https://www.nebuta.or.jp/
เทศกาลคันโตคือขบวนแห่ของนักแสดงผู้มากฝีมือ โชว์ลีลาการทรงตัวควบคุมเสาไม้ไฟที่ประดับด้วยโคมไฟหลายสิบดวงที่หนักราว 50 ก.ก. สูงเกือบ 12 เมตรไว้ไม่ให้ล้มลงมา ด้วยส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายเช่น มือ ไหล่ หน้าผากและสะโพก เรียกได้ว่าเราคนธรรมดาแค่ถือเฉยๆก็แย่แล้ว นี่ต้องคอยควบคุมไม่ให้ล้มอีก แต่คนเราก็มีผิดพลาดกันได้ ช่วงที่กำลังเสียจังหวะหรือเกิดลมพัดแรง โคมไฟก็เกิดการโยกไหวคนดูอย่างเราๆก็ได้แต่สงเสียเชียร์ หรือไม่ก็ตื่นเต้นว่าโคมไฟจะล้มลงมาที่เหล่ากองเชียร์หรือไม่ งานนี้ก็เรียกเสียงฮือฮาและความตื่นเต้นได้ไม่น้อย
ระหว่างที่ลุ้นอยู่ที่ก็ต้องตะโกนให้จังหวะกับนักแสดงอีกว่า “Dokkoisho,Dokkoisho” ประสานกับเสียงกลองและขลุ่ยดังสนั่นไปทั่วบริเวณ
ในส่วนของงานจริงที่เมืองอะคิตะนั้นมีการจุดไฟให้กับโคมแต่ละดวงเพิ่มเข้าไปทั้งความร้อนแรงและความตื่นเต้นอีกเท่าตัว ส่วนในงาน Kizuna เราจะได้เห็นโคมไฟตั้งตะหง่านตัดกับสีสดใสของท้องฟ้าหน้าร้อน ได้ภาพสวยๆแปลกตาไปอีกแบบ
มือข้างเดียวพี่ก็จัดการอยู่
"อะคิตะบิจิน" สาวงามอะคิตะสวยสมคำร่ำลือจริงๆค่ะ
โชว์จบก็เปิดโอกาสให้ผู้ชมสัมผัสเสาไม้คันโตหรือตีกลองไทโกะเล่นได้อย่างใกล้ชิด
โคมคันโตตั้งตะหง่านตัดกับสีท้องฟ้าหน้าร้อน หาดูยากนะงานนี้
[Akita Kanto Festival ]
จัดขึ้นทุกวันที่ 3-6 สิงหาคมของทุกปี
[ช่วงเวลาที่จัดขบวนพาเหรด]
พาเหรดกลางวันเริ่มเวลา 9:20 - 15:20 กลางคืนเริ่มเวลา 19:00 - 21:00
[สถานที่จัดงาน]
ถนน Kanto Odori Street (ระหว่างแยก Nichomebashi และแยก Sanno)
[การเดินทาง]
ลงรถไฟที่สถานี JR Akita
[เว็บไซต์ทางการ] (ภาษาอังกฤษ)
http://www.kantou.gr.jp/english/index.htm
โมริโอกะ ซันซะ โอโดริ คือขบวนพาเหรดกลองไทโกะที่ใหญ่ที่สุดในโลก มือกลองและนักดนตรีต่างสวมชุดสีสันสดใส เต้นไปตามจังหวะของเสียงกลองอันเร้าใจ พร้อมเปล่งเสียง "Sansa Sansa" ตามความเชื่อคือเพื่อขับไล่ปีศาจร้าย จุดเริ่มต้นของประเพณีนี้เริ่มที่ศาลเจ้า Mitsuishi Shrine ปัจจุบันกลายมาเป็นงานเทศกาลหลักประจำจังหวัดอิวาเตะ
นอกจากขบวนกลองไทโกะแล้วจุดที่น่าสนใจของงานเทศกาลนี้ยังมี “การระบำของมิสซันซะ” จากสาวงามเมืองอะโอโมริ และ “Waodori” การเต้นร่วมกันเป็นวงกลมที่ผู้เข้าร่วมชมงานสามารถมีส่วนร่วมได้
ในปีที่แล้วมีมาร่วมเฉลิมฉลองกับงานเทศกาลนี้มากถึง 1ล้าน 2แสนคน ภายในระยะเวลาการจัดงานทั้งหมด 4วัน
ขบวนกลองไทโกะ เรียงแถวกันมายาวสุุดลูกหูลูกตา
นอกจากกลองก็ยังมีเครื่องดนตรีอื่นๆเช่นขลุ่ยญี่ปุ่น เป็นต้น
มิสซันซะ สาวงามจากอะโอโมริ งานนี้คัดหน้าตาและรอยยิ้มมาแล้วล้วนๆ
ดอกไม้สีแดงคือดอกแอสตรากาลัสหรือภาษาญี่ปุ่นคือ レンゲ (เรนเกะ)
[Morioka Sansa Odori]
จัดขึ้นทุกวันที่ 1-4 สิงหาคมของทุกปี
[ช่วงเวลาที่จัดขบวนพาเหรด]
วันที่ 1-4 สิงหาคม พาเหรดเริ่มเวลา 18:00 - 21:00
[สถานที่จัดงาน]
ถนนหน้าที่ทำการจังหวัดอิวาเตะ (Iwate Prefecural Office)
[การเดินทาง]
เดิน 15 นาทีจากสถานี JR Morioka
[เว็บไซต์ทางการ] (ภาษาญี่ปุ่น) http://www.sansaodori.jp/
เทศกาลแห่รองเท้าฟางของเมืองฟุคุชิม่า ผู้ร่วมขบวนจะรวบรวมกำลังแรงกายช่วยกันแบกรองเท้าสานที่ทำจากฟางขนาดยาว 12เมตรและหนักถึง2ตัน เพื่อขอพรเกี่ยวกับสุขภาพและให้มีขาที่แข็งแรง
อีกความเชื่อหนึ่งคือเรื่องของคู่ครอง เชื่อกันว่าถ้าหากมาร่วมงานเทศกาล Mairi ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นการแบกรองเท้าข้างแรกและมาร่วมงานอีกครั้งในเดือนสิงหาคมกับการแบกรองเท้าอีกข้างหนึ่งจะช่วยให้ผู้มาร่วมงานสมหวังในความรัก (ข้อเท็จจริงนี้มาจากคำบอกเล่าของชาวเมืองฟุคุชิม่าเองนะ)
สำหรับงานเทศกาลนี้ดนตรีประกอบการแสดงจะแตกต่างไปจากเทศกาลอื่น คือมีการผสมผสานเข้ากับดนตรีตะวันตก เช่น ฮิปฮอป หรือ เรกเก้ เข้ากับยุคสมัยมากๆ แถมชุดของนักแสดง “Heisei Waraji Ondo'‘ หรือ “Dancing Soda Night” ก็เช่นกันมีความเท่ทั้งยีนส์ขาด เอวลอย เรียกได้ว่าจัดเต็ม นึกว่าเดินอยู่ย่านฮาราจุกุซะอย่างงั้น?! สมกับเป็นญี่ปุ่นจริงๆค่ะงานนี้
งานคัดหุ่นก็มา ทั้งล่ำทั้งหล่อ คนดูก็ฟินไป
รองเท้าหนักถึง2ตัน ต้องพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจจริงๆค่ะงานนี้
Heisei Waraji Dance ใสๆ ชุ่มชื่นหัวใจ <3
ยีนส์ขาดเอวลอย เรกเก้ฮิปฮอปจัดเต็ม นี่อยู่ฮาราจุกุหรือเปล่าค้า
[Fukushima Waraji Festival]
จัดขึ้นทุกวันที่ 4-5 สิงหาคมของทุกปี
[ช่วงเวลาที่จัดขบวนพาเหรด]
วันที่ 4 พาเหรดเริ่มเวลา 17:50 - 19:40 แดนซิ่งโซดาไนท์เริ่มเวลา 20:30 - 21:15
วันที่ 5 พาเหรดและแดนซิ่งโซดาไนท์เริ่มเวลา 19:25 - 21:05
[สถานที่จัดงาน]
ถนนหมายเลขที่ 13 (Shinobu Dori Street ในเมืองฟุคุชิมะ)
[การเดินทาง]
เดิน 5 นาทีจากสถานี JR Fukushima
[เว็บไซต์ทางการ] (ภาษาญี่ปุ่น) http://www.fmcnet.co.jp/waraji/
ทะนะบาตะ คือหนึ่งในเทศกาลของญี่ปุ่นที่คนไทยน่าจะพอเคยได้ยินมาบ้าง โดยเฉพาะนิทานที่เกี่ยวสาวทอผ้าและหนุ่มเลี้ยงวัวที่จะมาพบเจอกันในวันที่ 7 เดือน 7 ของทุกปี
ในส่วนของเมืองเซ็นได จังหวัดมิยากิ เมืองที่มีประวัติการจัดเทศกาลทะนะบาตะมายาวนานที่สุดในญี่ปุ่นตั้งแต่สมัย Date Masamune เป็นเจ้าเมือง คือเมื่อ 400 ปีก่อนและได้จัดติดต่อกันเรื่อยมา
การจัดงานเฉลิมฉลองจะมีขึ้นในช่วงวันที่ 6 - 8 สิงหาคม เนื่องจากใกล้เคียงกับวันที่ 7 เดือน 7 ตามจันทรคติมากที่สุด โดยจะมีการจัดตกแต่งผ้าหรือกระดาษสายรุ้ง และกระดาษที่เขียนคำอธิษฐานผูกเข้ากับกิ่งไผ่ ประดับประดาไปทั่วทุกมุมเมือง ทั้งตามบ้านประชาชนธรรมดาและย่านการค้าต่างๆ
สีสันสดใสของกระดาษพริ้วไหวยามสายลมพัดผ่าน คือสิ่งที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวญี่ปุ่นและนักท่องเที่ยวต่างชาติ อย่างปีที่แล้วตลอดการจัดงาน 3 วันมีผู้มาร่วมงานมากกว่า 2 ล้านคนเลยทีเดียว
สาวงามจากเมืองเซนได
ขบวนแห่เกี้ยวที่คาดว่าน่าจะเป็นท่านเจ้าเมือง
นักเต้นจัดขบวนด้วยความคึกคัก
รำพัดคือสัญลักษณ์อย่างหนึ่งในขบวนพาเหรดของเทศกาล
[Sendai Tanabata Festival]
จัดขึ้นทุกวันที่ 6-8 สิงหาคมของทุกปี
[ช่วงเวลาที่จัดงานการประดับกิ่งไผ่]
วันที่ 6-7 เวลา 7:10 - 22:00 / วันที่ 8 เวลา 8:10 - 21:00 (กำหนดการ)
[ช่วงเวลาแสดงในลานกิจกรรม]
วันที่ 6 เวลา 8:11 - 21:00
[ลานกิจกรรม]
ลานจัดงานในสวนสาธารณะ Kotodai Park Citizens
[การเดินทาง]
สถานี JR Sendai
[เว็บไซต์ทางการ] (ภาษาอังกฤษ) http://www.sendaitanabata.com/en
เทศกาลระบำหมวกฮานากาสะ หนีงในประเพณีที่สืบทอดกันมายาวนานของจังหวัดยามากาตะ จุดเด่นคือนักระบำจำนวนกว่า 10,000 คนจะแต่งกายด้วยสีสันสดใส มือสองข้างถือหมวกสานที่ตกแต่งด้วยดอกคำฝอยสีแดง ด้านในติดกระดิ่ง ระบำประกอบเสียงกลองไทโกะเป็นจังหวะและท่วงท่าที่สวยงาม พร้อมทั้งเปล่งเสียงพร้อมกันว่า “Yassho, Makasho” เป็นการขอพรกับเทพเจ้า Zaōdaigongen ชื่อเดียวกับภูเขา Zao ที่ชาวเมืองยามากาตะให้ความเคารพนับถือ
ในงานเทศกาลจริงนักท่องเที่ยวสามารถเข้าร่วมการเต้นรำนี้ได้ โดยจะมีมุมจัดไว้ให้พิเศษเรียกว่า 飛び入りコーナー (Tobiiri Coner) จบงานก็อย่าลืมที่จะซื้อหมวกฮานากาสะติดไม้ติดมือเป็นของฝากกลับบ้านด้วยหล่ะ
สำหรับงานเทศกาลนี้ในปีที่แล้วมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาชมงานทั้งสิ้น 1 ล้านคนในช่วงเวลา 3วันของการจัดงาน
[Yamagata Hanagasa Festival]
จัดขึ้นทุกวันที่ 5-7 สิงหาคมของทุกปี
[ช่วงเวลาการจัดงาน]
กิจกรรมขบวนเต้นรำแบบต่างๆเริ่มเวลา 18:10 - 21:40
กิจกรรมการเต้นรำเป็นวงกลม(เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าร่วมได้) Hanagasa Wa Odori 18:10 - 18:30 / Walk-in 20:30 - 21:00
[บริเวณที่จัดงาน]
ถนนสายหลักของเมืองยามากาตะ พาเหรดยาว 1.2 กม. สิ้นสุดที่อาคาร Bushokan
[การเดินทาง]
สถานี JR Yamagata
[เว็บไซต์ทางการ] (ภาษาอังกฤษ) http://www.hanagasa.jp/en/