เมล่อนปัง ไม่ใช่ขนมปังเมล่อน! เรามาทำความรู้จักกับเมล่อนปังกันเถอะ

สวัสดีครับ วันนี้จะมาขอพูดถึงขนมปังกึ่งของหวานอย่างหนึ่งที่นิยมในคนญี่ปุ่น และนอกจากนั้น ก็เป็นที่รู้จักกันของคนไทยได้นั่นก็คือ เมล่อนปัง ขนมปังรูปทรงเมล่อนนั่นเองครับ

ในช่วงก่อนที่จะเดินทางมาเรียนที่ญี่ปุ่น ด้านขนมหวาน ผมมีความคิดถึงเมล่อนปังที่น่าจะไม่ต่างจากทุกๆ ท่านคือ มันต้องเป็นขนมปังที่มีต้นกำเนิดจากเมล่อนแน่ๆ และต้องเป็นรสเมล่อน ที่คนญี่ปุ่นชื่นชอบอย่างแน่นอน

ครั้งแรกในคลาสที่เริ่มเรียนเรื่องขนมปังหวาน เพื่อนๆ ชาวญี่ปุ่นในชั้นเรียนของผม คิดแบบเดียวกันครับ จนอาจารย์ที่เป็นคนสอนวิชาขนมปังโดยตรงบอกว่า ทุกคนติดกับดักของชื่อเรียกนี้เสียแล้ว!!

1

เมล่อนปังนั้น จริงๆ แล้วไม่ใช่ขนมปังจากเมล่อนหรอก แต่เป็นเพราะรูปทรงของตัวขนมชนิดนี้ต่างหาก โดยอาจารย์บอกว่า ขนมปังที่มีชื่อ และคนญี่ปุ่นต้องนึกถึงนั่นคือ ถิ่นกำเนิดของเมล่อนปัง ที่ “โกเบ” นั่นเอง

ที่โกเบหลายๆ คนจะนึกถึงเนื้อโกเบ แต่ที่จริงแล้วในวงการอาหาร ที่นี่คือถิ่นของ เจ้าแห่งขนมปังของญี่ปุ่น ครับ

ในช่วงแรกคนญี่ปุ่นกินขนมปังแบบโชคคุปัง (ในกลุ่มขนมปังแถว แผ่นแบบที่เรากินกันนั่นเองครับ) หรือพวกขนมปังฝรั่งเศสมากกว่า จนมาพัฒนาเป็นขนมปังที่นิ่มขึ้นและใช้นมเป็นตัวช่วยในการสร้างสัมผัสที่นุ่มนวลขึ้น

ภายหลังจึงเริ่มคิดการตีขนมปังแบบหวาน (ตีโดยการใช้ปริมาณน้ำตาลที่สูงขึ้น ทำให้ขนมปังหวานในตัว แต่จะส่งผลต่อยีสต์ด้วยความเข้มข้นของน้ำตาลที่สูงเกินไป ทำให้ต้องแยกตีน้ำตาลเสริมเข้าไปรอบสอง เพื่อให้ยีสต์เกิดการขึ้นโดก่อนจากจังหวะแรกครับ) และนอกจากนั้นก็มีการนำองค์ความรู้จากต่างชาติที่แลกเปลี่ยนช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยการทำชั้นบิสกิตมาคลุมตัวของขนมปัง

3
ทุกคนคงเริ่มคุ้นๆ แล้วใช่ไหมว่าแบบนี้คือเมล่อนปัง คำตอบคือ ในช่วงแรกทรงขนมปัง จะนิยมการทำทรงยาวแบบ ขนมปังฝรั่งเศส รูปทรงตอนแรกจริงเป็นทรงรียาว และเรียกว่า “บานาน่าปัง” ครับ

จากนั้นเนื่องจากความเป็นลูกพระอาทิตย์ และการที่ขนมปังชนิดนี้ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว การผลิตเริ่มมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงรูปทรง ช่วงที่ขนมปังนี้เข้าถึงคันไซ (โกเบ ไปถึง โอซาก้า) ขนมปังได้เปลี่ยนรูปร่างเป็นทรงกลม และจากการที่เวลาอบชั้นบิสกิตจะแผ่ออก จึงเรียกว่า “ซันไรส์ปัง” หรือมาจากคำว่า Sunrise นั่นเองครับ

พอเริ่มมีการแพร่หลายไปทั่วประเทศจนมาถึงคันโต (แถบโตเกียว) เริ่มมีการคิดที่จะแก้ปัญหาเรื่องของชั้นบิสกิตที่เวลาขยายตัวจะแตกออก จึงมีการบั้งเป็นรอยตัดกัน ทำให้รูปทรงที่เราคุ้นชินกันถือกำเนิดออกมา ตรงจุดนี้เองครับ ที่คนญี่ปุ่นมองว่า มันช่างเหมือนเมล่อนราวกับแกะ ชื่อในปัจจุบันที่คุ้นชินกัน จึงเป็น “เมล่อนปัง” อย่างในปัจจุบันครับ

ถ้าท่านที่ได้ไปเที่ยวโกเบ จะพบว่ายังมีบางที่เรียกว่าซันไรส์ปังอยู่ ก็อย่าได้แปลกใจไปครับ มันคือเมล่อนปังเหมือนกัน

FOLLOW US ON
FACEBOOK
TAGS